ป่าห้านิมมาน
ผู้คนและชุมชนป่าห้านิมมาน
ผู้คน (People) คือ สิ่งสำคัญของกลไกการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ผู้คนเป็นผู้สร้างสรรค์และนิยามความหมายของชุมชน หากการพัฒนาเมืองไร้ซึ่งความเข้าใจผู้คน เมืองก็จะถูกพัฒนาแค่ทางกายภาพ แต่ความเข้าใจผู้คนผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมในแต่ละกลุ่มและแต่ละยุคสมัย จะทำให้เมืองเกิดกลไกขับเคลื่อนด้วยผู้คนที่เข้มแข็ง


เครือข่ายกลุ่มทางสังคมของชุมชนป่าห้า
เนื่องจากชุมชนไม่ได้มีการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและกลุ่มทางสังคมใดมาก่อน นอกจากการความร่วมของภาครัฐนั้นก็คือ เทศบาลนครเชียงใหม่ แขวงศรีวิชัยที่เน้นการทำงานแบบ top down ทำให้ชุมชนทำงานตามโจทย์และความร่วมมือจากองค์กรของภาครัฐ อาทิ การแจกถุงยังชีพในสภาวะการแพร่ระบาดโควิด19 การสร้างพื้นที่ประชุมและออกกำลังชุมชนตามงบเทศบาล ซึ่งไม่ได้เน้นการสร้างกลุ่มทางสังคมที่เกิดความร่วมมือใหม่กับกลุ่มคนที่เปลี่ยนย่านเข้ามาในย่านใหม่ และไม่ได้ยกระดับชุมชนของตัวเองจากศักยภาพเฉพาะตัวของชุมชน ซึ่งในการลงพื้นที่ของทีมวิจัย Chiang mai Learning city คือการสร้างความร่วมมือใหม่ ระหว่างชุมชนป่าห้าและชมรมเรารักนิมมาน และภาคการศึกษารวมไปถึงภาคประชาสังคมในเรื่องสิ่งแวดล้อมเมือง ดังนี้
ข้อมูลของกลุ่มคนทางสังคมที่เป็นข้อมูลพื้นถิ่นเมืองประกอบไปด้วย
- กลุ่มชุมชนป่าห้า หัวหน้าชุมชน คุณบุญธรรม อินทร์กุนะ
- กลุ่มศรัทธาวัดประทานพรที่อาศัยในชุมชนป่าห้า
- กลุ่มชมรมเรารักนิมมาน กลุ่มผู้พักอาศัยใหม่ย่านนิมมานเหมินท์ที่รวมตัวเมื่อพ.ศ. 2553

ภาคีเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นวิ่งแวดล้อมที่มาร่วมมือกับ Chiang Mai Learning City
- กลุ่ม green ranger ภาคประชาสงัคมและอาสาสมัครเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมเมือง นำโดยคุณ เม็งคบุตร ยูรโฮ
- กลุ่มนักวิจัย Chiang mai Learning City คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

"สิ่งแวดล้อมสร้างชุมชนป่าห้าและชุมชนเมืองนิมมาน ว่าด้วย ภูมิทัศน์และองค์ประกอบย่านพักอาศัยเก่า-ใหม่" จาก Talk Session 03 “ชุมชนป่าห้า-นิมมาน” เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ณ ที่ทำการชุมชนป่าห้า ชมไลฟ์เสวนาย้อนหลังที่ >>> https://fb.watch/9wbiCfp1N2/
สิ่งที่สำคัญและเป็นต้นทุนของพื้นที่นี้คือ สิ่งแวดล้อมสร้าง (built environment) ซึ่งนิมมานหรือชุมชนป่าห้านั้น เป็นพื้นที่ของการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่แบบอดีต คือการทำเกษตรกรรม มีการพึ่งพาแหล่งน้ำ หรือการอยู่แบบใหม่ที่เป็นการอยู่รวมกับระบบเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงในการมาของทุนใหญ่ที่ไม่ได้เข้าใจพื้นที่

“ย่านพักอาศัยเก่า-ใหม่”
การเปลี่ยนแปลงการอยู่อาศัย ป้าศรีนิล เล่าให้ฟังว่าในอดีตนั้น ชาวบ้านต่างทำไร่ทำนา และชุมชนมีความเป็นพี่เป็นน้องกัน ในชุมชนนั้นจะมีพื้นที่สาธารณะคือข่วงบ้าน ที่ลูกหลานหรือคนในชุมชนจะมาทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นพื้นที่ความสัมพันธ์ทางสังคม ต่างจากปัจจุบัน เป็นชุมชนที่มีเศรษฐกิจเข้ามา
คุณคมสันอธิบายว่า การอยู่เดิม เป็นชุมชนเกษตรกรรม มีนาข้าว ความเชื่อ การฟ้อน เสื้อบ้าน การเดินทางใช้เกวียน ระบบชุมชนไม่เคยมีรถมาก่อน พอมีการตัดถนน ระบบรถเข้ามา ชุมชนเกษตรกรรมจึงเปลี่ยนไป มีรูปแบบของคนรุ่นใหม่เข้ามา เริ่มมีระบบคอนโด โครงสร้างคอนกรีต มาแทนที่บ้านไม้เก่า ระบบตึกแถวรองรับระบบเชิงพาณิชย์ การอยู่แบบกระจุกๆ กลุ่มบ้านเดียวกัน ทุกคนรู้จักกัน เปลี่ยนไปเป็นคนใหม่เข้ามา ต่อมายุคที่มีการซื้อขายที่ดินนิมมาน

“เล่าเรื่องชุมชนผ่านสิ่งแวดล้อม”
คุณยูรกล่าวเสริม ในความรู้สึกของคนนอก เป็นความรู้สึกที่อยากมาพักชั่วคราว ทำให้ไม่มีเวลาที่จะผูกพันหรือเรียนรู้พื้นที่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ คือช่วงเทศกาลจะมีผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามา ทำให้พื้นที่มีความคึกคักเป็นอย่างมาก กลายเป็นพื้นที่ที่รองรับกับคนที่มาชั่วคราว กลับกันที่คนในเชียงใหม่นั้นไม่อยากมาเพราะต้องการหลีกเลี่ยงความแออัดวุ่นวาย
นิมมานนั้นมีเรื่องราวที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ถ้ามาลองอยู่อาศัย เช่น บ่อน้ำ การฟ้อน การไหว้ผี การอยู่ของคน ไม่ว่าจะอยู่อาศัยมานานแล้วหรือพึ่งเข้ามา ต่างสะท้อนจุดยืนของย่าน การอยู่นำพาไปสู่ความรักในถิ่นที่ การอยู่เป็นเวลานานทำให้ไม่อยากให้มีการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงในคุณค่าหรือความหมายของชุมชน