ช้างม่อย
สถาปัตยกรรมพื้นที่ช้างม่อย
Place (สถานที่) คือ องค์ประกอบของเมืองแห่งการเรียนรู้สำคัญ เป็นพื้นที่ที่มีความหมายทั้งทางสังคม และประโยชน์ใช้สอยร่วมกันของคนในชุมชน สถานที่ทำให้เมืองยังคงมีพื้นที่ที่ชีวิตและกลายเป็นองค์ประกอบชุมชนที่สำคัญ
"กลไกการอยู่ร่วมกันของชุมชนดั้งเดิมและผู้ประกอบการใหม่"
จากความไม่เชื่อมโยงของแนวคิดเมือง ที่ส่งผลทำให้โครงข่ายทางกายภาพ และทางสังคมไม่เกิดขึ้นแล้วนั้น ประเด็นการเรียนรู้พื้นถิ่นเมืองจึงเป็นการเชื่อมโยงองค์ประกอบมิติเมืองประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจให้ปรากฏและรับรู้ร่วมกัน
องค์ประกอบเมืองสำคัญ
ซุ้มประตูโบราณวัดชมพู
ซุ้มประตูนี้ตั้งอยู่ทิศเหนือของวัดชมพู ซึ่งเป็นทางเข้าหลักของวัด สะท้อนแนวคิดการวางผังชุมชนหัววัดที่มีซุ้มประตูวัดเป็นแกนนำสายตา และมีละแวกบ้านรายล้อมวัด เจ้าอาวาสพระครูพิพัฒน์เล่าให้ฟังว่า ประตูนี้เป็นประตูเจ้า เจ้าเมืองในอดีตจะเดินเข้าวัดทางนี้ โดยวัดชมพูและวัดล่ามช้างเป็นชุมชนที่เชื่อมโยงกัน เดินไปมาหาสู่กัน แต่ปัจจุบันพื้นที่นี้กลับถูกมองไม่เห็นจากการสัญจรในย่าน เพราะถนนที่เป็นตรอกเดินนั้น ถูกลดการใช้งาน ทำให้เกิดถนนเพื่อรถสัญจรมีบทบาทมากกว่า ทำให้ถนนที่เป็นแกนวัดทางทิศเหนือไม่ถูกพัฒนาต่อเนื่อง และทำให้ไม่มีใครสามารถรับรู้ทางเข้าหลักผ่านซุ้มประตูนี้ได้
เจดีย์วัดชมพู
รูปทรงเจดีย์วัดชมพูเป็นทรงเดียวกันกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ เจ้าอาวาสและคนในชุมชนพูดเสมอว่าเจดีย์ทั้ง 2 องค์เป็นเจดีย์พี่น้อง จากเรื่องเล่าสร้างไว้เพื่อคนยากไร้หรือคนที่ด้อยโอกาสไมาสามารถขึ้นไปสักการะวัดพระธาตุดอยสุเทพได้ ก็จะมาทำบุญวัดชมพูนี้แทน เป็นเจดีย์ที่เป็นความภูมิใจของชุมชนช้างม่อยผู้ศรัทธาวัดชมพู โดยแต่เดิมเป็นวัดที่อุปถัมภ์โดยช่างตีเหล็กและพ่อค้าแม่ค้าในละแวกถนนสิทธิวงศ์-ช้างม่อยเก่า
อัตลักษณ์ย่านร่วมสมัย – หัวมุมอาคารโค้งบนแยกถนนช้างม่อย
แยกถนนช้างม่อยเก่า-ช้างม่อย
ตึกแถวบนถนนช้างม่อย เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบสมัยใหม่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจในยุคสมัยพ.ศ. 2489-2519 ที่พื้นที่ช้างม่อย-ท่าแพ-กาดหลวง คือย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจและการคมนาคมสำคัญของเมือง ทำให้อาคารเหล่านี้เป็นเหมือนรองร่องความเจริญในอดีต ตัวอาคารสะท้อนทักษะของช่างพม่าในอดีต รสนิยมของนายทุนจีน องค์ประกอบอาคารที่เป็นครีบแนวตั้งแนวนอน นอกจากนี้การมีรถรางสัญจรในย่านช้างม่อย และแต่ก่อนทางรถสัญจรยังเป็นสองเลนไปกลับ ทำให้เมืองในบริเวณนี้คึกคัก เนื่องด้วยการจัดสรรพื้นที่เมืองสมัยใหม่เป็นระบบถนนและการแบ่งที่ดินรูปทรงเรขาคณิต ทำให้เป็นลูกเล่นบนอาคารสมัยใหม่เล่นไปกับหัวมุมของเมือง ด้วยการเหลาหัวมุมอาคารเป็นรูปทรงโค้ง ซึ่งอัตลักษณ์อาคารแบบนี้ปรากฏบทแยกถนนบนถนนช้างม่อยอยู่